Home – SDGs for All

A project of the Non-profit International Press Syndicate Group with IDN as the Flagship Agency in partnership with Soka Gakkai International in consultative status with ECOSOC

Watch out for our new project website https://sdgs-for-all.net

ความเท่าเทียมทางเพศทางเศรษฐกิจลดลง แม้จะมีการลงทุนในการศึกษาของเด็กผู้หญิงก็ตาม

share
tweet
pin it
share
share

โดย Thalif Deen

สหประชาชาติ (IDN) — การศึกษาใหม่สรุปว่าการลงทุนด้านการศึกษาของเด็กผู้หญิงนั้นไม่ได้ให้ความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจสำหรับผู้หญิง

นักวิจัยพบว่าแม้ว่าการลงทุนดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์อื่น ๆ มากมาย เช่น ในด้านผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับผู้หญิงและครอบครัว แต่นักวิจัยมักพบว่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจช่างน่าผิดหวัง

ผลการศึกษาซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม และเขียนโดยนักวิจัยจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ Center for Global Development ในวอชิงตันและลอนดอนพบว่าแม้ว่าจำนวนเด็กผู้หญิงที่ไปโรงเรียนในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกนั้นจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การจ้างงานที่เท่าเทียมกันหรือความเท่าเทียมทางเพศทางเศรษฐกิจ

“การลงทุนในการศึกษาของเด็กผู้หญิงนั้นเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เราไม่มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ แต่แค่รับเด็กผู้หญิงเข้าโรงเรียนก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้พวกเธอมีโอกาสที่เท่าเทียมในชีวิตต่อไป” กล่าวโดย Shelby Carvalho นักวิเคราะห์นโยบายอาวุโสของ Center for Global Development และหนึ่งในผู้เขียนหลักของรายงาน

เมื่อทำการวิเคราะห์จาก 126 ประเทศ พบว่าการทำงานของผู้หญิงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าเด็กผู้หญิงจะเข้าถึงการศึกษาได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากก็ตาม อันที่จริง ผู้หญิงยังคงมีโอกาสมากกว่าผู้ชายเป็นสองเท่าที่จะไม่ได้รับงานหรือการศึกษา

การศึกษาเรื่อง “Girls’ Education and Women’s Equality: How to Get More out of the World’s Most Promising Investment” (การศึกษาของเด็กผู้หญิงและความเท่าเทียมกันของผู้หญิง: ทำอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์จากการลงทุนที่ให้ความหวังมากที่สุดในโลก) เปิดเผยว่า:

–   โดยเฉลี่ยแล้ว แม้เด็กผู้หญิงจะเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนในอัตราที่สูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้มีผู้หญิงทำงานเพิ่มขึ้นอย่างคงเส้นคงวา และหากพวกเธอมีงานทำ เธอก็ยังประสบกับช่องว่างทางเงินเดือนและความอาวุโสเป็นอย่างมาก

–  ในทั่วโลก เยาวชนที่ว่างงานส่วนใหญ่ (อายุระหว่าง 15-24 ปี) เป็นผู้หญิง

–     ในอินเดีย จำนวนผู้หญิงที่ทำงานไม่ได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 แม้ว่าจำนวนเด็กผู้หญิงที่ไปโรงเรียนจะเพิ่มขึ้นอย่างมากก็ตาม

–      หลักฐานจากเอธิโอเปีย มาลาวี ปากีสถาน และยูกันดาก็แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาในด้านการศึกษาของเด็กผู้หญิงไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ในด้านความเท่าเทียมของตลาดแรงงาน

–     ในละตินอเมริกา จำนวนผู้หญิงที่เข้าร่วมในตลาดแรงงานกลับลดลง แม้ว่าเด็กผู้หญิงจะประสบความสำเร็จในการเรียนมากขึ้นก็ตาม

เมื่อคุณ Carvalho ได้รับคำถามว่าข้อค้นพบครั้งใหม่นี้จะบ่อนทำลายเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) 17 ประการของ UN หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างพลังอำนาจต่อเพศของตนเองและการศึกษาของผู้หญิง เธอได้บอกกับ IDN ว่า “ข้อจำกัดเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อ SDG อย่างน้อย 3 ประการ”

เธอชี้ให้เห็นว่า SDG 5 เรียกร้องให้บรรลุความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมสร้างพลังอำนาจสำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคน การศึกษาสำหรับเด็กผู้หญิงเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุความเท่าเทียมทางเพศ และประเทศต่าง ๆ ควรลงทุนในการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กผู้หญิงทุกคนอย่างแท้จริง”

แต่เธอแย้งว่า หากไม่มีสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกันในโลกแห่งการทำงาน ผู้หญิงก็ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่าง ๆ จากการศึกษาได้

“SDG 10 เรียกร้องให้ลดความไม่เท่าเทียมกันภายในประเทศและระหว่างประเทศ ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศเป็นสาเหตุหลักของความไม่เท่าเทียมกันภายในประเทศ และหากไม่มีผู้หญิงในตำแหน่งผู้นำทางการเมืองหรือเป็นครูวิชาวิทยาศาสตร์ นั่นก็จะทำให้ความคืบหน้าช้าลง” เธอกล่าว

SDG 4 เรียกร้องให้มีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน

“มีเด็กผู้หญิงในเบนินและกินี-บิสเซาเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเพียงร้อยละ 5 และเด็กผู้หญิงน้อยกว่า 1 ใน 5 ในปาปัวนิวกินีและเฮติเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จึงเห็นได้ชัดว่าเรายังห่างไกลจากการบรรลุเป้าหมายที่สี่” เธอเสริม

ต่อไปนี้เป็นข้อความที่ตัดตอนมาจากการสัมภาษณ์:

ตามกฎหมายชะรีอะฮ์ สถานะของการศึกษาของเด็กผู้หญิงและการเสริมอำนาจทางเพศในประเทศต่าง ๆ เช่น อัฟกานิสถานและซาอุดีอาระเบียนั้นเป็นอย่างไร?

Carvalho: เราพบว่า เมื่อมีกฎหมายหรือบรรทัดฐานที่เข้มงวดมากขึ้นซึ่งอาจจำกัดการศึกษาของเด็กผู้หญิง ความทะเยอทะยานของเด็กผู้หญิง หรือโอกาสของผู้หญิงในตลาดแรงงาน สิ่งเหล่านี้ก็อาจจำกัดบทบาทของการศึกษา ทำให้ไม่สามารถกระตุ้นการเสริมอำนาจให้กับผู้หญิง และอาจกลายเป็นอุปสรรคอย่างต่อเนื่องต่อโอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกันในชีวิต แม้ว่าผลการศึกษาของชายและหญิงจะเท่าเทียมกันก็ตาม

แม้ว่าซาอุดีอาระเบียและอัฟกานิสถาน ตลอดจนประเทศอื่น ๆ จะมีความก้าวหน้าในบางพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของเด็กผู้หญิงและสิทธิผู้หญิง แต่ก็ยังมีแง่มุมอื่น ๆ ทั้งในทางกฎหมายที่เป็นทางการและบรรทัดฐานทางสังคมที่อาจทำให้การศึกษาของเด็กผู้หญิงนั้นไม่สามารถส่งผลให้เกิดความเท่าเทียมอย่างที่เราคาดหวัง

ศาสนา (หรือการตีความศาสนาในทางที่ผิด) มีบทบาทในการเลือกปฏิบัติทางเพศหรือไม่?

Carvalho: บรรทัดฐานทางสังคมมีบทบาทสำคัญในการเลือกปฏิบัติทางเพศ และเราเห็นได้จากปรากฏการณ์ทางสังคมจำนวนหนึ่ง รวมทั้งในด้านศาสนา สังคมที่จำกัดความสามารถของผู้หญิงในการทำงานหรือจำกัดความสามารถในการทำงานในบางอุตสาหกรรม จะทำให้ผู้หญิงส่วนหนึ่งไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการศึกษาได้อย่างเต็มที่

ปัจจุบัน มากกว่าหนึ่งในสามของประเทศต่าง ๆ ยังห้ามไม่ให้ผู้หญิงทำงานในอุตสาหกรรมเดียวกับผู้ชาย และบ่อยครั้ง อุตสาหกรรมที่มีผู้ชายทำงานเป็นหลักก็จะมีรายได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น การจำกัดการเข้าถึงเครดิต การจำกัดชั่วโมงทำงาน ฯลฯ หากต้องการให้การศึกษาของเด็กผู้หญิงส่งผลดีได้จริง วิธีเดียวที่ต้องทำก็คือให้ผู้หญิงมีโอกาสเท่าเทียมกันในตลาดงาน

Carvalho ยังกล่าวอีกว่า “สำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทั่วโลก เพียงเพราะคุณมีการศึกษาระดับเดียวกันกับเพื่อนชายของคุณ ก็ไม่ได้รับประกันว่าคุณจะได้รับค่าจ้างสักเศษเสี้ยวหนึ่งของที่เขาหามาได้ และไม่ได้รับประกันว่าคุณจะได้ไปทำงานเพราะคุณยังต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานบ้านหรือดูแลบุตรโดยไม่ได้รับค่าจ้าง”

“การศึกษาไม่ได้รับประกันว่าคุณจะหลุดพ้นจากความรุนแรงจากผู้ชาย ไม่ได้รับประกันว่าคุณจะมีโอกาสเจริญก้าวหน้าเหมือนกับผู้ชาย และไม่ได้รับประกันว่าสังคมที่ลูกของคุณเติบโตขึ้นมานั้นจะมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น” Carvalho กล่าว

ในขณะเดียวกัน นักวิจัยยังแนะนำว่าระบบการศึกษาต้องทุ่มเทมากกว่านี้ในการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ โดยทำให้แน่ใจว่าโรงเรียนจะปลอดภัยสำหรับเด็กผู้หญิง ปราศจากการเลือกปฏิบัติ และสนับสนุนเด็กผู้หญิงในช่วงที่เปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนสู่ที่ทำงาน

“เรามีความรู้มากมายเกี่ยวกับวิธีการรับเด็กผู้หญิงเข้าโรงเรียนและวิธีช่วยให้พวกเธอเรียนรู้” กล่าวโดย David Evans ผู้ร่วมงานอาวุโสของ Center for Global Development และผู้เขียนหลักอีกคนของรายงาน “แต่เรายังต้องเรียนรู้อีกมากเกี่ยวกับวิธีการทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กผู้หญิงทุกคน”

เช่นนั้นแล้ว ผู้เขียนจึงได้ตรวจสอบการลงทุนในการศึกษาระดับโลกโดยผู้บริจาคชั้นนำ เช่น ธนาคารโลก และกระทรวงการต่างประเทศและเครือจักรภพของสหราชอาณาจักร (FCDO)

หน่วยงานเหล่านี้มักอ้างว่าตนให้ความสนใจในความเท่าเทียมทางเพศและการศึกษาของเด็กผู้หญิง โดยในปี 2020 ได้มีการใช้เงินทุนเพื่อการศึกษาของ FCDO ร้อยละ 92 และเงินทุนของธนาคารโลกร้อยละ 77 เพื่อดำเนินการในโครงการที่ให้ความสำคัญต่อการศึกษาของเด็กผู้หญิง

“แต่สุดท้ายแล้ว น้อยกว่าครึ่งหนึ่งได้นำไปสู่โครงการที่มีเป้าหมายเฉพาะต่อเด็กผู้หญิงหรือความท้าทายเฉพาะที่พวกเธอต้องเผชิญ มีโครงการเล็ก ๆ เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ที่มุ่งเน้นไปที่การลดอคติทางเพศในห้องเรียน และน้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มขีดความสามารถ การเข้าถึง สุขภาพและความปลอดภัย หรือการสนับสนุนเด็กผู้หญิง” การศึกษาระบุ

มีเอกสารโครงการการศึกษาของธนาคารโลกเพียงไม่กี่ฉบับในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาที่กล่าวถึงอุปสรรคเฉพาะของเด็กผู้หญิง เช่น การแต่งงานในวัยเด็ก การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หรือการจัดการสุขอนามัยในช่วงประจำเดือนที่ไม่เพียงพอ

“เนื่องจากสถาบันยังมีอคติทางเพศในด้านระบบการศึกษา และวิธีการแทรกแซงที่ได้รับการพิสูจน์แล้วกลับไม่ได้รับความใส่ใจ (ทั้งนี้มีวิธีการแทรกแซงจำนวนมากที่ดำเนินการได้ง่าย เช่น การไม่คิดค่าธรรมเนียมการเข้าเรียนสำหรับเด็กผู้หญิง) กลุ่มเด็กผู้หญิงที่ยากจนที่สุดและอยู่ชายขอบมากที่สุดในโลกจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และหนักขึ้นไปอีกเนื่องจากเกิดโรคระบาด”

เด็กหญิงที่ยากจนที่อาศัยอยู่นอกเมืองมักจะขาดเรียนบ่อย ในแถบแอฟริกาใต้สะฮารา มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนอาศัยอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนและอยู่ในพื้นที่ชนบท

“นอกจากนี้ เด็กผู้หญิงยังมีแนวโน้มที่จะออกจากโรงเรียนมากกว่าเด็กผู้ชายเมื่อรายได้ครัวเรือนลดลง และนี่เป็นสถานการณ์ที่พบเห็นทั่วไปเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องกัน ตลอดจนปัญหาก่อนเกิดโรคระบาด เช่น พ่อแม่ตกงานหรือล้มป่วย”

“หากความเท่าเทียมทางเพศและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งหมดจากการศึกษานั้นไม่ใช่แค่ความฝันลม ๆ แล้ง ๆ เราก็ต้องทุ่มเทมากกว่านี้ และเราอาจจะต้องคิดให้ต่างไปจากที่เราเคยคิดในอดีต” Carvalho กล่าว [IDN-InDepthNews – 15 พฤษภาคม 2022]

เครดิตภาพ: togetherforgirls.org

NEWSLETTER

STRIVING

MAPTING

PARTNERS

Scroll to Top