Home – SDGs for All

A project of the Non-profit International Press Syndicate Group with IDN as the Flagship Agency in partnership with Soka Gakkai International in consultative status with ECOSOC

Watch out for our new project website https://sdgs-for-all.net

Photo: Dr Poonchai Chitanuntavitaya, Chief Medical Officer of Social Health Enterprise, supervising his trainees while giving massages to visitors to the school for marginalised children, supported by a foundation set up by Princess Maha Chakri Sirindhorn, to empower the students to break into the medical field through an unconventional career path that is providing a multi-faceted approach to addressing the Sustainable Development Goals (SDGs).

แพทย์ชาวไทยสร้างแนวทางรอบด้านสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

share
tweet
pin it
share
share

โดย Kalinga Seneviratne

จันทบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (IDN) – นายแพทย์ท่านหนึ่งผู้มีความกระตือรือร้นและเต็มไปด้วยจิตสำนึกต่อสังคมในชุมชนเกษตรกรรมในชนบทของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย กำลังร่วมมือกับโรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาส โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิที่ก่อตั้งโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชธิดาลำดับที่สองในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่เสด็จสวรรคตในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559

โรงเรียนแห่งนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีโอกาสเข้าศึกษาต่อในสาขาการแพทย์ ผ่านสายอาชีพที่แหวกแนวซึ่งมอบแนวทางที่รอบด้านเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGS).

หลังจบการสาธิตที่โรงเรียนซึ่งนำโดยลูกศิษย์วิชานวดแผนไทยที่เป็นเอกลักษณ์ที่นายแพทย์ท่านนี้ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อรักษาโรคที่เรียกกันว่า ‘ออฟฟิศซินโดรม’ (ปัญหาบริเวณคอและไหล่อันเนื่องมาจากการนั่งทำงานที่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน) นพ. พูลชัย จิตอนันตวิทยา ผู้อำนวยการแพทย์แห่งวิสาหกิจสุขภาพชุมชน ได้กล่าวกับ IDN ว่า “ผมมีลูกศิษย์เป็นชาวม้ง (ชาวเขา) ทั้งหมดหกคนครับ ครอบครัวของพวกเขามีความสุขมาก ถ้าพวกเขาต้องอยู่ที่นี่ (อยู่ในเขา) พวกเขาจะเป็นเพียงคนงานในไร่ข้าวโพด แต่ถ้าเป็นที่นี่ พวกเขาจะสามารถหาความรู้ เพิ่มความภูมิใจในตนเอง และสักวันหนึ่งอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพก็ได้ครับ”

“เมื่อดิฉันได้รับการฝึกอบรม ดิฉันจะได้รับโอกาสในการมีอาชีพมากขึ้นค่ะ” หนึ่งในลูกศิษย์ของเขา คุณเนตรยา เจนลินดา อายุ 17 ปี กล่าวกับ IDN “ในระหว่างนั้น ดิฉันก็ช่วยเหลือผู้ที่เจ็บป่วยได้อีกด้วย” และเสริมอีกว่าวันหนึ่งเธออยากจะเป็นหมอ

ศาสตราจารย์กมลรัฐ อินทรทัศน์ ผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับโครงการโรงเรียนอัจฉริยะและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารและการพัฒนา (CCDKM) ซึ่งได้ฟังบทสัมภาษณ์อยู่ด้วยกล่าวขึ้นว่า “ดิฉันรู้สึกแปลกใจที่เธอบอกว่าอยากเป็นหมอค่ะ ปกติแล้ว เด็ก ๆ ที่ด้อยโอกาศจะไม่กล้าพูดแบบนั้น โครงการนี้ทำให้เธอมีความมั่นใจในตัวเอง”

นพ. พูลชัย ได้อธิบายถึงการนวดแผนไทยในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาโดยกล่าวว่า นี่เป็นการผสานภูมิปัญญาการนวดแผนโบราณของไทยเข้ากับความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ โดยเฉพาะศาสตร์ที่เกี่ยวกับหัวใจ เนื่องด้วยเขานั้นเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคหัวใจ

ด้วยเหตุนี้เอง เขาจึงได้ศึกษาเรื่องกระบวนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย และพบว่ากล้ามเนื้อคือส่วนที่ทำให้ผู้คนมีความตึงเครียดและทำให้ร่างกายหลั่งสารอะดีนีนจนเกิดความรู้สึกเมื่อยล้า “ทั้งหมดนั่นสามารถย้อนกลับได้โดยการยืดเส้นและกดจุด (การนวด) ในจุดกดเจ็บตามร่างกายของคุณครับ จากนั้นสมองจะสั่งงานกลับกัน” เขาอธิบาย

“เหมือนกับว่า ถ้าคุณเป็นผู้ที่นั่งสมาธิจนมีความชำนาญ คุณจะสามารถทำให้ร่างกายทุกส่วนผ่อนคลายได้ระหว่างที่ทำสมาธิ … แต่มีน้อยคนที่ทำเช่นนั้นได้ ฉะนั้น ผมจึงได้คิดค้นการบำบัดแบบนี้ขึ้นเพื่อเลียนแบบผลลัพธ์ที่ว่านั้น เพื่อที่จะผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึง เราเรียกว่าเป็นการซ่อมบำรุงร่างกายมนุษย์ครับ”

ในระหว่างที่อบรมเหล่าแพทย์เฉพาะทางวัยเยาว์ของเขานั้น เขาต้องค่อย ๆ ถ่ายทอดความรู้ทางการแพทย์นี้ให้กับลูกศิษย์อย่างช้า ๆ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น เขาต้องมีเด็กหนุ่มสาวที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงเพื่อที่จะปฏิบัติการนี้

ผู้คนมากมายเดินทางมาที่โรงเรียนในวันเสาร์และวันอาทิตย์เพื่อทำตัวเป็นหุ่นจำลองให้เหล่านักเรียนได้ฝึกฝนทักษะที่ตัวเองได้เรียนรู้ ในบางครั้งนักเรียนก็ไปที่ตลาดในหมู่บ้านเพื่อให้บริการเช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้ เขาได้ส่งนักเรียนจำนวน 20 คนไปให้บริการนวดที่งานกาชาดซึ่งจัดขึ้นในเมืองเป็นเวลาเก้าวันอีกด้วย

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 48 อันเป็นสถานศึกษาของนักเรียนเหล่านี้นั้นมีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 548 คน และเป็นโรงเรียนประจำแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เนื่องจากเด็ก ๆ ที่ศึกษาจากระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 นั้นมาจากครอบครัวที่ยากไร้ หลายคนนั้นไม่มีพ่อแม่ บางคนเคยเป็นคนติดยาหรือเป็นเด็กติดเกม บางคนเคยตกเป็นเหยื่อของการค้าประเวณีเด็ก และ 80 เปอร์เซ็นต์มาจากครอบครัวไร้บ้าน

มูลนิธิของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นั้นได้สร้างและมอบเงินสนับสนุนแก่โรงเรียนที่มีลักษณะคล้ายกันนี้แล้วทั้งสิ้น 85 แห่งทั่วประเทศไทย ให้การเรียนการสอนแก่นักเรียนที่ด้อยโอกาสให้รู้จักการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ตนเองในอนาคต

คุณกมลรัฐอธิบายว่านโยบายของมูลนิธิช่วยเปิดโอกาสทางด้านระบบการศึกษาให้แก่เด็กที่ด้อยโอกาสในสองทาง “ทางแรกคือการฝึกอบรมทางการอาชีพ เนื่องจากหลาย ๆ คนนั้น เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมปลายแล้ว ไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยเนื่องจากต้องไปทำงาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระทัยให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะด้านไอซีทีเพื่อที่จะเป็นนักธุรกิจที่ชาญฉลาด … ทางที่สองคือการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย”

คุณกมลรัฐชี้แจงว่า “ขั้นตอนแรกในการฝึกฝนทักษะทางไอซีทีคือเรื่องการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาสามารถใช้ทักษะทางไอซีทีในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ … ตั้งแต่เรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไปจนถึงการประชาสัมพันธ์และการโฆษณา ได้ทำการตลาดออนไลน์ด้วยตนเอง รู้จักตรวจคลังสินค้า ปรับปรุงแคตตาล็อก ตลอดจนถึงการธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์ วิธีการโอนงานผ่านอินเทอร์เน็ต”

คุณกมลรัฐแนะว่า โครงการของ นพ. พูลชัย เป็นความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ของแนวคิดโรงเรียนอัจฉริยะ ซึ่งเป็นสถาบันการเรียนรู้ที่ดำเนินการสอนผ่านทางเทคโนโลยี เพื่อที่จะเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียนสำหรับยุคสารสนเทศ

“คนไทยเก่งในด้านการนวดค่ะ ความถนัดนี้ได้มาจากบรรพบุรุษของเรา … นายแพทย์ท่านนี้พยายามบูรณาการความรู้ทางการแพทย์เข้ากับภูมิปัญญาดั้งเดิม ฝึกฝนเด็ก ๆ ให้รู้จักกับการนวดชนิดนี้ โดยจะให้เป็นการฝึกฝนที่ดำเนินการอย่างจริงจังในระดับการศึกษาและการอาชีพ … เมื่อพวกเขาได้ประสบการณ์ตั้งแต่ในวัยเด็ก พวกเขาจะสามารถเป็นหมอนวดในระดับมืออาชีพได้ และแน่นอนว่านี่จะนำมาซึ่งความยั่งยืนค่ะ” เธอให้เหตุผล

ผู้อำนวยการโรงเรียน ดร. สุภาพร พาพักดี เห็นด้วยว่าการฝึกอบรมด้านการนวดนี้เพิ่มมิติใหม่ให้กับโครงการโรงเรียนอัจฉริยะของที่นี่

“ปกติแล้วดิฉันเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเองค่ะ (แต่) พอดิฉันได้ช่วยคนอื่นแล้ว ตอนนี้ดิฉันมั่นใจขึ้นค่ะ” ธิดารัตน์ สิงห์ทอง เด็กที่เข้ารับการฝึกอบรมวัย 17 ปีอีกคนหนึ่งกล่าว “ดิฉันอยากเป็นพยาบาลในกองทัพเรือค่ะ” เธอเสริมขึ้น

นพ. พูลชัย กล่าวว่าสิ่งที่เขาสอนแก่เด็กนักเรียนของเขาเหล่านี้เป็นรูปแบบการสร้างรายได้แบบเคลื่อนที่ ซึ่งพวกเขาสามารถเดินทางไปหาผู้คนโดยการเปิดร้านตามสถานีรถไฟในเมือง หรือตามสนามบินในพื้นที่ซึ่งสามารถให้บริการได้ภายใน 10 นาที ในเวลาแปดชั่วโมง พวกเขาจะสามารถรักษาคนได้ถึง 40 คนต่อวัน ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้อย่างมาก

“โรคออฟฟิศซินโดรมเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก และผมหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะสามารถส่งนักบำบัดมืออาชีพไปเข้าร่วมโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ครับ” เขากล่าวพร้อมกับรอยยิ้มที่เชื่อมั่น

นพ. พูลชัย กล่าวว่าตนเองนั้นเป็น “หมอคนจน” เขาไม่ได้ทำโครงการนี้เพื่อให้รวยขึ้น แต่เขาต้องการนำรายได้ในอนาคตที่เกิดขึ้นจากโครงการของเขานี้ไปใช้แก้ปัญหาภัยพิบัติในระบบนิเวศที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในชุมชนที่เป็นบ้านเกิดของเด็ก ๆ เหล่านี้ [IDN-InDepthNews – 19 มกราคม 2561]

* IDN-INPS ขอแสดงความขอบคุณทาง CCDKM และศาสตราจารย์กมลรัฐ อินทรทัศน์ ที่ให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการมาเยี่ยมชมโครงการโรงเรียนอัจฉริยะ

NEWSLETTER

STRIVING

MAPTING

PARTNERS

Scroll to Top