Home – SDGs for All

A project of the Non-profit International Press Syndicate Group with IDN as the Flagship Agency in partnership with Soka Gakkai International in consultative status with ECOSOC

Collage with pictures of products of SEP (left) and EU visitors with Chittakone Sisanonh, Director of Dongkhamxang Agriculture Technical College (right). Credit: Dongkhamxang Agriculture Technical College.

ปรัชญา ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ของไทย บรรลุผลที่ลาว

share
tweet
pin it
share
share

โดย ปัทมา วิไลเลิศ

เวียงจันทน์, ลาว วันที่ 28 มิถุนายน 2566 (IDN) — ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของไทยในปี พ.ศ. 2540 ปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้เข้ามามีบทบาทในประเทศไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตรัสกับพสกนิกรว่าแทนที่จะสร้างโรงงานเพื่อเป็นเสือแห่งเอเชีย สิ่งสำคัญสำหรับคนไทยคือให้ดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 “เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงการมีให้พอเลี้ยงตัวเองได้” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตรัส [1] และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หมู่บ้านในประเทศไทยกว่า23,000 แห่งได้ในนำทฤษฎีการพัฒนาเศรษฐกิจนี้มาปรับใช้ และทฤษฎีนี้กำลังเป็นที่รู้จักในประเทศลาว-เพื่อนบ้านของไทย

ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ในวิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้าง ตั้งอยู่ห่างจาก “ตลาดเช้า” ที่พลุกพล่านในเวียงจันทน์เพียง 13 กม.

ศูนย์การเรียนรู้ฯประกอบด้วยสถานีการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีการปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ การเพาะเลี้ยงปลา และการเลี้ยงสัตว์

“ในปัจจุบัน เวียงจันทน์ ค่อนข้างทันสมัย ทำให้​​มีคนทำงานในไร่นาน้อยลงและพื้นที่เกษตรกรรมก็ลดลงเช่นกัน” วิทิดา ศิวะเกื้อ, นักวิเทศสหการชำนาญการพิเศษ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กล่าวกับ IDN

ความเห็นของ วิทิดา สอดสอดคล้องกับการสำรวจในปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติลาว, กระทรวงการวางแผนและการลงทุน ซึ่งระบุว่า จำนวนเกษตรกรลาวลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา “เกษตรกรลาวมีเปอร์เซ็นต์ลดลงจากร้อยละ 77 ของประชากรทั้งหมด [7 ล้านคน] ในปี 2553 เหลือร้อยละ 69 ในปี 2563 เนื่องจากชาวลาวจำนวนมากเลิกทำนาเพื่อมาเป็นแรงงานในเมือง”

เพื่อทำให้ภาคการเกษตรของลาวมีความยั่งยืน และเพื่อผลิตนักศึกษาด้านการเกษตร อันจะส่งผลให้สังคมการเกษตรของประเทศลาวดำรงอยู่ต่อไป จิตตะกอน สีสานน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้าง มีความมุ่งมั่นที่จะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP)

เขาบอกกับ IDN ว่า เขามีความคิดที่จะจัดตั้งศูนย์เรียนรู้นี้ ตั้งแต่เขามาศึกษาที่ประเทศไทย ในช่วงปี 2546-2549 และได้ไปเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ SEP 2-3แห่ง ซึ่งทำให้เขาคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวในประเทศลาว เพราะทรัพยากรธรรมชาติของทั้งสองประเทศมีความคล้ายคลึงกัน

ความคิดของเขาได้กลายเป็นความจริงเมื่อ TICA เข้ามาเยี่ยมชมวิทยาลัยกสิกรรมดงคำช้างในปี 2550 “แนวทางการสอนของเราสอดคล้องกับแนวคิด SEP ผมจึงติดต่อ TICA เพื่อให้การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ฯ เพื่อให้อาจารย์ นักศึกษา และชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงได้เรียนรู้ถึงวิธีการทำการเกษตร ตามแนวทาง SEP” จิตตะกอน สีสานน ระบุ

วิทิดา กล่าวเสริมว่า “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเผชิญกับวิกฤติการเงิน (ของไทย) ในต้นทศวรรษ 2533 และรัฐบาลไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทย”

“ประเทศไทยเคยเป็นประเทศผู้รับ เราได้เรียนรู้มากมายในขณะที่ได้รับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาและความรู้จากประเทศอื่น ๆ และปรับให้เข้ากับบริบทของไทย ตั้งแต่ปี 2506 เรากลายเป็นเป็นประเทศผู้ให้ (สิ่งซึ่ง) เราเก่งในการพัฒนา (เรา) ก็สามารถถ่ายทอดให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้” เธอบอกกับ IDN ด้วยแววตาที่เปล่งประกาย

“ธีมหลักในการทำงานตามแนวคิด SEP คือ ‘เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา’ ดังนั้น ก่อนที่เราจะแปลงแนวทาง SEP ให้เป็นโครงการ เราจะจัดการประชุมกับประเทศเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลืออะไร เมื่อเราทราบแล้ว เราจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในประเทศไทยเพื่อพัฒนาโครงการร่วมกับเรา” วิทิดากล่าว

เศรษฐกิจพอเพียงมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ ความพอประมาณ ความเหมาะสม และการมีภูมิคุ้มกันในตนเอง โดยมีเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่ ความรู้และจริยธรรมที่เหมาะสม และะคุณธรรม รวมถึงการนำความพอประมาณไปใช้อย่างสมเหตุสมผล คือ ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป ซึ่งเป็นแนวคิดแบบตะวันออกตามหลักทางสายกลางของชาวพุทธ ทั้งนี้ ความเหมาะสมจะกำหนดให้สิ่งที่เราเลือกนั้นสมเหตุสมผลตามหลักวิชาการ กฎหมาย ค่านิยมทางศีลธรรม หรือบรรทัดฐานทางสังคม และการมีภูมิคุ้มกันในตนเอง ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการมีภูมิต้านทานในตัวเองต่อความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ด้วยการมีวิธีการบริหารความเสี่ยงที่ดี [2]

อนุสอน สายะวง เครดิต ภาพ: ปัทมา วิไลเลิศ

ผมคิดว่า ผมเข้าใจว่า SEP คืออะไรอนุสอน บอกกับ IDN ขณะที่กำลังดูแลวัวในศูนย์เรียนรู้ฯ “ครอบครัวของผมต้องการให้ผมเรียนที่นี่มากกว่าช่วยพวกเขาในไร่นาเหมือนคนอื่น ๆ และการได้เรียนที่นี่ก็คุ้มค่า เพราะผมได้เรียนรู้การวางแผนการผลิต และการทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจำเป็นมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้ผลผลิตตามธรรมชาติไม่สามารถคาดเดาได้”

“ที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ นี้มีสะพานที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมพื้นที่สำหรับการเกษตรที่ทอดตัวอยู่ 2 ฝั่งของสะพาน ฝั่งหนึ่งเป็นบริเวณสำหรับสัตวบาลและอีกฝั่งสำหรับการดูแลพืชพรรณ” อนุสอนอธิบาย “ผมมีหน้าที่ดูแลสัตว์ ผมจึงมาที่นี่ทุกเช้าเพื่อดูแลวัว และถ้าพวกมันป่วย ผมจะฉีดยาให้พวกมัน และเพื่อนร่วมชั้นเรียนของผมก็ทำงานในไร่อีกฝั่งหนึ่งเพื่อดูแลพืชพรรณ”

จิตตะกอน อธิบายประเด็นของอนุสรณ์เพิ่มเติมว่า “จริง ๆ แล้ว ศูนย์การเรียนรู้ฯของเรามีสถานีการเรียนรู้ 22 แห่ง มาตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งแต่ละสถานีได้รับการออกแบบให้เข้ากับการเกษตรของประเทศลาว เช่น สถานีเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดและกบ และเมื่อเวลาผ่านไป เราก็ได้ดัดแปลงสถานีการเรียนรู้บางแห่งไปทำการปลูกพืชผัก ผลไม้ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด”

“เรายังได้เรียนรู้อีกว่า SEP ไม่ใช่แค่การผลิตผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการหาวิธีที่จะดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น เราจึงมุ่งมั่นที่จะทำให้ผลผลิตของเราสามารถจำหน่ายในตลาดที่กว้างขึ้น” จิตตะกอน กล่าวเสริม

“แคนตาลูปปลอดสาร เป็นสินค้าอันดับต้น ๆ ของเรา ที่เราปลูกไม่ทันกับความต้องการของตลาด” อนุสอน เล่าต่อ “เราขายแคนตาลูปได้ง่าย เพราะคนแถวนี้รู้ดีว่าผลผลิตของเราปลอดสารเคมี   และเราก็ประชาสัมพันธ์ในเพจ เมื่อขายแคนตาลูปได้ อาจารย์ที่สอนพวกเราจะเก็บเงินรายได้ไว้เป็นค่าใช้จ่ายของศูนย์เรียนรู้ฯ ผมเข้าใจว่า SEP เป็นแบบนี้ ” เขาบอกกับ IDN

วิสัยทัศน์ 2030 และยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 10 ปี (2016-2025) ของ ประเทศลาว ระบุว่า วิสัยทัศน์ของภาคการเกษตรในปี 2030 มีเป้าหมายอยู่ที่ “หลักประกันความมั่นคงทางอาหาร การผลิตสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพแข่งขันได้ และการพัฒนาเกษตรกรรมที่สะอาด ปลอดภัยและยั่งยืน แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจการเกษตรที่ทันสมัย ซึ่งมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ โดยเชื่อมโยงกับการพัฒนาชนบทที่เอื้อต่อพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ”

เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์นี้ รัฐบาลลาวสนับสนุนเงิน 200,000 กีบ (11 เหรียญสหรัฐ) ต่อเดือนให้กับผู้ที่เรียนด้านการเกษตร ช่างไม้ ช่างโลหะ และก่อสร้าง แต่มีนักศึกษาเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ต้องการเรียนในสาขาเหล่านี้

หอมมาลา เพ็ญสีสานวง อาจารย์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว บอกเล่าความกังวลเกี่ยวกับจำนวนนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ลดลงว่า “ตั้งแต่ปี 2562 จำนวนนักเรียน นักศึกษาในลาวลดลงถึง 38% ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับมหาวิทยาลัย โควิด-19 เป็นหนึ่งในสาเหตุและอีกประการหนึ่ง คือพ่อแม่ไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงส่งเสียบุตรหลาน” เธอกล่าว

จิตตะกอน เห็นด้วย กับหอมมาลา เขาระบุว่า “ปัจจุบันค่าครองชีพในลาวสูงมาก เนื่องจากเงินเฟ้อ แม้ว่าธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียจะให้เงินกู้ผ่านรัฐบาลของเรา แต่ก็มีไม่กี่คนที่มีสิทธิ์ได้รับเงินกู้ ผมจึงพยายามทำให้ศูนย์การเรียนรู้ฯ มีความยั่งยืน เพื่อที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับอาจารย์และนักศึกษาในระยะยาวได้บ้าง”

“ทุกปีๆ ศูนย์การเรียนรู้ฯแห่งนี้ต้อนรับผู้มาเยี่ยมชมจากองค์กรพัฒนาต่าง ๆ จำนวนมาก ขณะนี้ เรากำลังทำงานร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ในการฝึกอบรมด้านการตลาดให้กับอาจารย์ของเรา หลังจากการฝึกอบรม เราหวังว่าจะทำการตลาดผลผลิตของเราทางออนไลน์ และเรายังติดต่อกับธนาคารโลก เพื่อขอทุนสนับสนุนในสร้างร้านขายของหน้าศูนย์ฯ และในปี 2568 เราจะเปิดศูนย์ฯ ให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชม ด้วยการทำสิ่งเหล่านี้ ศูนย์การเรียนรู้ฯ และชีวิตของพวกเราจะดำรงอยู่ได้” จิตตะกอน บอกกับ IDN

วิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้างไม่ใช่สถาบันเดียว ที่นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) มาปรับใช้ ในปัจจุบัน ยังมีศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อีก 4 แห่งกระจายอยู่ในประเทศลาว ที่แขวง อัตตะปือ บ่อแก้ว คำม่วน และ ไชยบุรี

“ประเทศลาวไม่แตกต่างจากไทยในด้านภาษาและวัฒนธรรม จึงทำให้แนวทาง SEP บรรลุผลได้” วิทิดากล่าว นอกจากลาวแล้ว ประเทศติมอร์-เลสเต ยังนำแนวทาง SEP ไปใช้ในภาคการเกษตรด้วย “เกษตรกรไทยสอนผู้นำการเกษตรชาวติมอร์เกี่ยวกับวิธีการใช้ SEP ในฟาร์มของพวกเขา และตอนนี้พวกเขาสามารถฝึกอบรมเกษตรกรได้ด้วยตัวเอง นี่คือภารกิจของ TICA ที่จะทำให้แนวคิดด้านการพัฒนากลายเป็นรูปธรรมผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ” [IDN-InDepthNews]

 [1] Thailand Human Development Report 2007; Sufficiency Economy and Human Development(PDF). Bangkok: United Nations Development Program (UNDP). 2007

[2] Philosophy of Sufficiency Economy – https://thaiembassy.se/en/monarchy/philosophy-of-sufficiency-economy/

ภาพผลผลิตจาก SEP (ซ้าย) และผู้เยี่ยมชมสหภาพยุโรปกับ จิตตะกอน สีสานน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้าง (ขวา) เครดิต: วิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้าง

NEWSLETTER

STRIVING

MAPTING

PARTNERS

Scroll to Top